
จังหวัดเพชรบุรี โดยเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี จัดมหกรรมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้มีชีวิต เพชรบุรี ดีจัง มาส่งต่อกัน โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองเพชรบุรี สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมสมทบสนับสนุนงบประมาณ หน่วยงานราชการ องค์กร บริษัท เอกชน ชุมชนพร้อมใจร่วมจัดกิจกรรม ด้านเอกชนเจ้าของที่ดิน 2 แปลงให้ใช้พื้นที่ส่วนบุคคลเป็นลานกิจกรรม
สืบเนื่องจากกลุ่มเด็กและเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง ได้ริเริ่มจัดงานมหกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี ดีจัง นำเสนอสื่อ ศิลปะ และวัฒนธรรมของชุมชนต่าง ๆ ในจังหวัดเพชรบุรีที่เกิดจากการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน จากโครงการพื้นที่สร้างสรรค์ เพชรบุรี ดีจัง ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนทั้งในท้องถิ่นและต่างจังหวัด ตลอดจนยังเป็นที่สนใจของสื่อมวลชนทั่วไปอีกด้วย โดยที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. แต่ปีนี้ทาง สสส. ลดงบประมาณลง ด้วยเหตุนี้ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี จัดสรรงบประมาณสนับสนุนการจัดมหกรรมครั้งนี้ และขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรีอีกจำนวนหนึ่งด้วย
ด้านกิจกรรมในปีนี้ นางสาวสุนิสา ประทุมเทือง แกนนำเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรีดีจัง ผู้ประสานงานมหกรรมครั้งนี้ ได้กล่าวว่า “จากการที่เครือข่ายได้ร่วมกันขับเคลื่อนพื้นที่สร้างสรรค์กันมาถึงปีนี้ก็เป็นปีที่ 6 แล้ว ทำให้หลายพื้นที่มีการเติบโตขึ้น จากพื้นที่สร้างสรรค์เล็ก ๆ ในชุมชน กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ทั้งชุมชน เกิดความร่วมมือร่วมใจกันมากขึ้น มีพื้นที่เรียนรู้ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ปีนี้เราก็ใช้ชื่อมหกรรมว่า มหกรรมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้มีชีวิต เพชรบุรี ดีจัง มาส่งต่อกัน เพื่อให้ทุกคนในเพชรบุรี ได้มาร่วมมือกัน ดูแล รักษา พื้นที่สร้างสรรค์ พื้นที่เรียนรู้ในชุมชนไว้ ช่วยกันเล่าช่วยกันบอกต่อให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ขึ้นในทุก ๆ พื้นที่ทุกชุมชน และก็อยากให้ทางจังหวัดเพชรบุรี ได้จัดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ที่คนเมืองเพชรได้ร่วมกันเริ่มต้นนี้ไว้ ให้สามารถพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปเรื่อย ๆ โดยงานมหกรรมครั้งนี้ จะมีขึ้นในวันเสาร์ – อาทิตย์ที่ 18 – 19 มีนาคม 2560 นี้ ในพื้นทีชุมชนใจกลางเมืองเพชรบุรี มีกิจกรรมทั้งภาคกลางวันและช่วงค่ำก็จะเริ่มประมาณ 5 โมงเย็นเป็นต้นไป”
“ส่วนด้านผู้ร่วมจัดกิจกรรมในงานมหกรรมปีนี้ กลุ่มเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรีดีจังยังคงเป็นแกนนำในการจัดมหกรรม ร่วมกับกลุ่มรักษ์ตลาดริมน้ำและกลุ่มชุมชนชาวถนนคลองกระแชง เหมือนทุกปีที่ผ่านมา แต่ปีนี้มีองค์กรที่ร่วมจัดเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย เทศบาลเมืองเพชรบุรี สถาบันวิจัยและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สถาบันอาศรมศิลป์ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.เพชรบุรี กลุ่มศิลปินถ่ายภาพและศิลปินวาดภาพ ชาวชุมชนตำบลนาพันสามและวัดนาพรม เครือข่ายศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครคีรี ชุมชนผึ้งน้อยมหัศจรรย์ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัทไปรษณีย์ไทย จังหวัดเพชรบุรี ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารออมสิน และจะมีเพื่อนภาคีพื้นที่นี้ดีจังจาก 6 จังหวัด มาร่วมจัดกิจกรรมด้วย โดยมีน้อง ๆ จากโรงเรียนบางจานวิทยา และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มาร่วมเป็นอาสาสมัครในงาน มีหน่วยปฐมพยาบาลจากโรงพยาบาลเมืองเพชรธนบุรี และจากศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง โรงพยาบาลพระจอมเกล้า มาคอยบริการหากเกิดการเจ็บป่วย ส่วนด้านการจราจรและความปลอดภัย ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากสถานีตำรวจภูธรเมืองเพชรบุรีจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาดูแล และมี อปพร. จากเทศบาลเมืองเพชรบุรีมาร่วมสนับสนุนด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีเครือข่ายขององค์กรและชุมชนที่ร่วมจัดงานอีกหลายภาคส่วนที่ไม่สามารถจะกล่าวถึงได้หมด”
สำหรับกิจกรรมก็มีหลากหลาย ทั้งกิจกรรมเรียนรู้ที่เป็นการชวนกันลงมือทำและการแสดง มีการเปิดบ้านและการจัดกิจกรรมของคนในชุมชน ทั้งในซอยริมน้ำ ถนนคลองกระแชงและถนนดำเนินเกษม กิจกรรมทางน้ำที่ปีนี้ได้รับความเมตตาจากเจ้าอาวาสวัดนาพรม จัดเรือพายและคนในชุมชนมาร่วมสร้างสีสันให้กับมหกรรมในแม่น้ำเพชรบุรีอีกด้วย ส่วนกิจกรรมภาคกลางวันในปีนี้ก็มีเพิ่มมากขึ้น จะมีการจัดเสวนาถึงราชาเรื่องสั้น มนัส จรรยงค์ ที่จะมีนายกสามคมนักเขียนแห่งประเทศไทยพร้อมด้วยนักเขียนชื่อดังระดับประเทศมาร่วมเสวนาด้วย มีกิจกรรมเดินชุมชน กิจกรรมสอนทำอาหาร และกิจกรรมทางน้ำ ส่วนพิธีเปิดก็จะมีด้วยกัน 4 พื้นที่ ต่างเวลากัน เริ่มด้วย 13.00 น. พิธีเปิดกิจกรรมภาคกลางวัน โดยวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี ณ บ้านจรรยงค์ ถนนคลองกระแชง 17.00 น. เปิด ณ ลานตั้งสวัสดิรัตน์ โดยนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี ซอยริมน้ำ ใกล้สะพานจอมเกล้า 18.00 น. พิธีเปิดกิจกรรมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้มีชีวิตและถนนสายกิจกรรม 3 ส. โดยนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี ณ บริเวณสี่แยกเพชรนคร 19.00 น. พิธีเปิดงานมหกรรม เพชรบุรี ดีจัง มาส่งต่อกัน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ณ ท่าน้ำวัดพลับพลาชัย และท่าน้ำตลาดสดเพชรบุรี ก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมกิจกรรมต่าง ๆ และมาร่วมพิธีเปิดมหกรรมครั้งนี้พร้อม ๆ กัน”
ด้านสถานที่จัดมหกรรม ได้รับการชี้แจงจากนางสาวเนตรนภา รุ่มรวย เยาวชนกลุ่มรักษ์หนองปรง ที่รับหน้าที่หัวหน้าฝ่ายสถานที่กล่าวว่า “สำหรับพื้นที่จัดงานปีนี้ ก็ใช้พื้นที่เหมือนปีที่ผ่านมา คือ ถนนดำเนินเกษม ตั้งแต่สี่แยกไปรษณีย์ ถึงหน้า วัดมหาธาตุ ถนนหลังจวน ถนนคลองกระแชงตลอดสาย และในซอยริมน้ำซึ่งอยู่ฝั่งตลาดสด ลานรอบน้ำพุ ลานสุนทรภู่ ลานวิหารคันธารราฐ วัดพลับพลาชัย และที่พิเศษปีนี้ เราได้รับความเมตตาจากผู้ใหญ่ใจดี มอบพื้นที่ส่วนตัวให้ใช้เป็นลานกิจกรรม คือลานตั้งสวัสดิรัตน์ ในซอยริมน้ำ จากห้างทองไทยง่วนฮง และลานเดอะซันปันสุข บริเวณหน้าตึกชุมสายโทรศัพท์ จากเจ้าของห้างเดอะซัน และสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในตลาดสดเพชรบุรี จัดกิจกรรมได้ด้วย นอกจากนี้ก็มีชาวชุมชนอีกหลายบ้าน ที่เปิดบ้านจัดกิจกรรมร่วมกันด้วย ก็ขอถือโอกาสขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีทุกท่านไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยค่ะ”
งานมหกรรมพื้นที่ชุมชนสร้างสรรค์เพื่อการเรียนรู้มีชีวิต เพชรบุรี ดีจัง มาส่งต่อกัน ได้รับการสนับสนุนจาก จังหวัดเพชรบุรี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพชรบุรี เทศบาลเมืองเพชรบุรี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบุรี สโมสรพื้นที่นี้ ดีจัง สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับ เด็กและเยาวชน ตลอดจนครอบครัว และผู้สนใจทั่วไป ได้มาเรียนรู้ สื่อ ศิลปะ ของพื้นที่ชุมชนตามบริบทของพื้นที่หรือองค์กรที่มาร่วมจัดกิจกรรม สร้างสังคมการเรียนรู้ไร้พรมแดน ภายใต้แนวคิด “เล่น เรียนรู้ ริเริ่ม ร่วมทำ แบ่งปัน” โดยมีเยาวชนเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง เป็นแกนนำออกแบบพื้นที่และกิจกรรมโดยใช้หลักการ 3 ส. คือ สื่อสาร สร้างสรรค์ มีส่วนร่วม เพื่อให้เกิด สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี นำสังคมไปสู่ ชุมชน วิถี ชีวิต สุขภาวะ จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงานมหกรรมในครั้งนี้ มาร่วมกัน เปลี่ยนประเทศไทยจากจุดเล็ก ๆ ด้วยจินตนาการอันยิ่งใหญ่ นี้พร้อม ๆ กัน
ขอขอบคุณพี่ ๆ สื่อมวลชนทุกท่านทุกสำนัก ที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของเครือข่ายเพชรบุรี ดีจัง ด้วยดี ตลอดมา
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ https://www.facebook.com/phetburideejung/?ref=ts&fref=ts
เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายน 2559 โดยทีมโค้ชชิ่งโครงการไอซีทีแฮปปี้ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ได้จัดการประชุมครูแกนนำ โรงเรียน 3ดี : สื่อดี พื้นที่ ภูมิดี เพื่อร่วมจัดทำและวางแผนการทำโครงการปี 2559 ภายใต้การสนับสนุนจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) ซึ่งในปีนี้โครงการแต่ละโรงเรียนมุ่งเน้นเชิงลึกและชัดเจนมากขึ้นมีการเพิ่มเติมเนื้อหาการรู้เท่าทันสื่อในการบูรณาการรายวิชาและการ สร้างสื่อสร้างสรรค์ภายใต้กระบวนการสอนแบบ PBL การเรียนรู้ร่วมกันระหว่างครูผู้สอนและนักเรียน บรรยากาศในการประชุมเป็นกันเอง สบายๆ คุณครูได้แบ่งปันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันด้วยค่ะ และทางโครงการฯ ยังได้มอบสื่อความรู้ใหม่ๆ Roll up ชุดใหม่ ของที่ระลึก ฯลฯ เพื่อให้ครูแกนนำ นำไปใช้ในกิจกรรมภายใต้โครงการฯ ข้อมูลและภาพจาก Icthappy
18 มิ.ย. 59 การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ บทบาทพี่เลี้ยง สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ(สอช.) ในการทำงานพัฒนาเด็กด้วยกระบวนการ 3ดี มีผู้เข้าร่วมเกือบ 100 คนจาก 21เมือง ส่งผ่านความรู้โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน
มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: เรื่องกินเรื่องใหญ่ ที่ตลาดไนต์บาซาร์มหาสารคามสุดคึกคัก ประชาชนให้ความสนใจจำนวนมาก เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 60 ที่ตลาดไนต์บาซาร์มหาสารคาม อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม นายเสน่ห์ นนทะโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานเปิดงาน งานมหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุจิน บุตรดีสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม นายสิทธิเดช ผงสิริ แกนนำเยาวชนอีสานตุ้มโฮม นิสิตนิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสารสนเทศ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเครือข่ายเยาวชนอีสานตุ้มโฮมจากพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร อุดรธานี สุรินทร์ และศรีสะเกษ ร่วมกันจัดกิจกรรม “มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: เรื่องกินเรื่องใหญ่” ด้วยตระหนักถึงคุณค่าของวิถีภูมิปัญญาอีสาน และได้นำเสนอผ่านวิถีอาหารพื้นบ้าน ศิลปะสร้างสรรค์ และสื่อพื้นบ้าน ซึ่งเป็นผลงานความสามารถของเด็กและเยาวชนที่ได้ร่วมกันจัดขึ้น “มหกรรมดีจังอีสานตุ้มโฮม ปี 4 สื่อสารสร้างสรรค์: […]
“พ่อแม่หนูทำอาชีพอะไรกันบ้างจ้า?” เสียงคุณครูถามนักเรียนในชั้นเรียน เป็นคำถามที่มีความเงียบเป็นคำตอบให้กับคุณครู คุณครูโรงเรียนบ้านเทิน จ.ศรีสะเกษ เล่าให้เราฟังว่า …..เด็กๆ ที่นี่ไม่เคยพูดถึงอาชีพพ่อแม่ตนเองเลย เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ พ่อแม่มีอาชีพเข็นบะหมี่ขายที่ กทม.และเมืองใหญ่ต่างๆ หลายต่อหลายรุ่น เด็กๆ อายและไม่ภูมิใจที่มีพ่อแม่เข็นบะหมี่เกี๊ยวขาย “เหนื่อยใจไม่รู้จะบอก จะสอนเด็กๆ อย่างไร?” คุณครูกล่าว กระบวนการ “สื่อสร้างสรรค์” ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) จึงเริ่มต้นขึ้น………. เริ่มจากการ…..เหมารถบัสหนึ่งคัน พาเด็กๆ และผู้เฒ่าผู้แก่ เดินทางสู่เมืองหลวง…..ค้นหาเส้นทางของบะหมี่เกี๊ยว เพื่อเก็บข้อมูลทำหนังสั้น ให้เด็กๆ ได้สืบค้นที่มาของบะหมี่ จากต้นทางแหล่งผลิต มาถึงรถเข็นของคนขายบะหมี่ และที่สุดมาสู่บะหมี่ในชามของลูกค้า เริ่มต้นการเดินทางสู่เมืองกรุง…..แสงแดดที่ร้อนแรง รถรามากมาย ฝุ่นควันคละคลุ้ง ผู้คนขวักไขว่แออัดยัดเยียด ต่างคนต่างต้องดิ้นรนเร่งรีบ ทำให้เด็กๆ หลายคนไม่สบาย เมารถ เมาผู้คน แต่ภาระกิจการตามหาเส้นทางของบะหมี่เกี๊ยว ยังต้องเดินหน้าต่อไป ครั้นเด็กเหลือบไปเห็นรถเข็นบะหมี่เกี๊ยวคันแรก การทักทายและการค้นข้อมูลผ่านการสัมภาษณ์ จึงเริ่มขึ้น หลังเด็กๆ ได้ฟังคำบอกเล่าของคนเข็นบะหมี่เกี๊ยวขาย ต่างอึ้งจนพูดแทบไม่ออก เด็กบางคนถึงกับก้มหน้าน้ำตาคลอ การที่เด็กๆ ได้เห็นกับตาของตนเองว่า คนเข็นบะหมี่เกี๊ยวขายในเมืองกรุง ช่างอดทนเหลือเกิน […]