“หุ่นเงาทำให้เด็กมีเวทีแสดงออก การได้ออกแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) ในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้ม จึงจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เร็ว”
สุภิญญา บุญเฉลย ผู้ประสานงาน กลุ่มลูกขุนน้ำ แห่งหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช เอ่ยคำนี้ด้วยรอยยิ้มขณะเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในกลุ่มลูกขุนน้ำ เธอเรียกแทนตัวเองว่ามาอู
กลุ่มลูกขุนน้ำเข้าร่วมพื้นที่นี้…ดีจังเป็นปีที่ 3 เธอเล่าว่าปีแรกเป็นแขกรับเชิญและเข้าร่วมเต็มตัวใน 2 ปี หลังเธอและเด็กๆ พบความสำเร็จจากการเลือกสื่อที่ดีนั่นก็คือ “หุ่นเงา”
“หุ่นเงาสามารถประสานได้ทุกฝ่าย ทำให้เด็กได้สืบค้นเรื่องราวในชุมชน ผู้ใหญ่ได้ถ่ายทอด เช็คเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายได้ ซึ่งต่างจากการทำเอกสารประเภทงานวิจัย เพราะสื่อหุ่นเงาเวลาเล่นจะมีเสียงตอบรับจากผู้ชมได้ในทันทีขณะเล่น ซึ่งเด็กรู้สึกและรับรู้ได้เช่นกัน ผู้ชมก็เข้าใจสิ่งที่เด็กสื่อได้บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจแต่ก็รู้ว่าเด็กตั้งใจจะทำอะไร จากการทำโครงการที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการของเด็ก เช่น มีระเบียบวินัย มีการฝึกซ้อม รู้เรื่องราวของชุมชน ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตนเอง”
เรียนรู้ต่อเติม
ด้วยความพยายามที่จะหาของดีในชุมชนแรกๆ เธอจึงชวนเด็กๆ ไปใช้ธนูคันกระสุน เป็นธนูแบบดั้งเดิมที่มีก้อนหินเป็นกระสุน ซึ่งมีอยู่เฉพาะในชุมชนนี้ และมีปราชญ์ชาวบ้านรู้เรื่องนี้ที่นี่
“มาอูรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวกลาง(ตัวเชื่อมระหว่างยุค โดยธรรมชาติของชุมชนคีรีวงการถ่ายทอดในทุกๆเรื่องจะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น)ได้จึงคิดจะให้ผู้ใหญ่สอนเด็กๆในหมู่บ้านโดยตรง แต่เนื่องจากธนูคันกระสุนเป็นเครื่องมือที่ยากเกินไปเพราะต้องฝึกฝนและต้องใช้ความชำนาญ บางคนหัดยิงพลาดไปโดนนิ้วตัวเองเกิดอันตรายกับเด็กๆ ถึงแม้จะเสียดายเพราะธนูคันกระสุนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนก็ตามแต่ความปลอดภัยของเด็กก็ต้องมาก่อนสิ่งใด”
ปีที่สองเธอจึงทำซุ้มกิจกรรมและซุ้มศิลปะในโรงเรียนแต่ละแห่งในตำบล รอบๆ หมู่บ้าน แต่ปัญหามีมาทดสอบคนตั้งใจเสมอ พอเข้าไปทำกิจกรรมกับโรงเรียนทำให้เธอรู้ว่าโรงเรียนเองก็มีภาระมาก อีกทั้งกลุ่มลูกขุนน้ำเองก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะสั่งการโรงเรียนได้ ทางโรงเรียนจึงจัดสรรค์เวลาให้ตามสมควร อีกทั้งวันที่จะทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียนได้ก็ต้องเป็นวันธรรมดา ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก ที่สำคัญก็คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์กับทางโรงเรียนขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียนว่าส่งเสริมกิจกรรมเด็กมากน้อยแค่ไหน
หลังความพยายามเรามักพบความสำเร็จ ปีที่สามนี่เอง เธอได้ใช้หุ่นเงา เป็นสื่อกลางที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกคนในชุมชนได้ เด็กกับพี่เลี้ยงก็ไม่ลำบากที่จะพบและเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะสามารถใช้วันหยุดไปสืบค้นข้อมูลในชุมชนได้ และได้รับการยอมรับจากชุมชน จึงค่อยๆ จัดอบรม จัดแสดงไปทีละหมู่บ้าน
“เรานำหุ่นเงา จากทุกพื้นที่มาจัดมหกรรมปลายปี รวมหุ่นเงาจากทุกพื้นที่โดยพื้นที่ทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงออกทะเล การจัดงานครั้งนั้นทำให้เราเห็นความหลากหลายของพื้น และหุ่นเงาแต่ละที่ก็อธิบายความเป็นชุมชนและพื้นที่ได้ด้วยตัวหุ่นและเรื่องราว ผ่านเป็นเรื่องเล่าสู่คนชมได้อย่างเข้าใจง่าย
หลังจากครั้งนั้นหุ่นเงาของพวกเราก็เริ่มออกนอกพื้นที่ ได้ไปขอความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ จ.นครศรีธรรมราช ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่แสดงหุ่นเงา ซึ่งทางอุทยานฯ มีพื้นที่ว่างอยู่ สำหรับจัดการแสดงอยู่แล้ว จึงตอบโจทย์กันและกันได้ หุ่นเงาจึงทำให้เด็กๆมีพื้นที่””
สื่อดีไม่ได้มีแค่เอกสาร
เดิมทีนั้นมาอูบอกว่า เธอไม่คิดว่าสื่อหุ่นเงานี้จะใช่คำตอบ แต่เกิดจากประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดมามาก ทั้งจากงานอื่นๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่นี้ดีจัง ทำให้พอนึกออกว่าสื่อแบบไหนที่จะเข้าถึงคนได้ ซึ่งแน่ใจว่าไม่ใช่เอกสารแน่ๆ
“จากที่เคยทำงานวิจัยและเคยผลิตสื่อประเภทการ์ตูนมาก่อน ถึงแม้สื่อที่เราทำออกมันดีแต่ไม่มีคนอ่าน เราก็พยายามหาสื่ออื่นๆ เพื่อจะเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม เคยปรึกษากับกลุ่มมานีมานะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำละครอยู่ที่หาดใหญ่ เลยลองมาให้หุ่นเงาดู ไม่คิดว่าละครที่ใช้หุ่นเงาเป็นสื่อจะมีข้อดีอย่างไม่น่าเชื่อ คือคนเชิดอยู่หลังฉาก เด็กไม่ต้องอายเพราะไม่มีใครมองเห็น ทำให้แก้ปัญหาเรื่องการไม่กล้าแสดงออกของเด็กได้ ต่างจากการแสดงละครเวทีที่ต้องเอาตัวมาเล่นหน้าฉากซะเองซึ่งต้องเผชิญหน้ากับผู้ชมโดยตรง แต่การอยู่หลังฉากก็สร้างความมั่นใจให้เด็กด้วยเช่นกัน หลังจากทำหุ่นเงาไปสักพัก เด็กๆ มีความมั่นใจและเริ่มเรียกร้องที่จะแสดงละครด้วยตัวเองหน้าฉาก ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุน”
หุ่นเงารวมเพื่อนและสร้างทักษะ
มาอูบอกว่าหุ่นเงานั้นทำให้เด็กๆ มีทักษะการทำงานงานฝีมือ นั่นก็คือการตัดตัวหุ่น ซึ่งวิธีการทำหุ่นเงาของกลุ่มลูกขุนน้ำจะทำด้วยวัสดุง่ายๆ วาดโครงร่างหุ่นบนกระดาษแข็ง ตัดกระดาษ ตัดพลาสติก ทำอย่างไรก็ได้ที่ฉายไฟใส่แล้วเกิดเงาได้ จะฉลุปราณีตเหมือนหนังตะลุงก็ได้ หรือจะทำอย่างอื่นๆ ก็ได้ ส่วนเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวหรือตำนานของชุมชนที่มีอยู่จริง หลังจากเด็กได้เรียนรู้มาเขาจะคิดบทขึ้นมาเองโดยผ่านการเรียบเรียงให้น่าสนใจโดยใช้ทักษะที่ได้รับจากการworkshopหุ่นเงาในช่วงต้นโครงการฯ กระบวนการผลิตหุ่นเงาหนึ่งเรื่องเด็กๆ ได้เรียนรู้การเขียนบท ทำสตอรีบอร์ด วาดหุ่น ตัดหุ่น ทำฉาก การพากย์เสียง การเชิดหุ่น การใช้แสง และอื่นๆ ที่หลากหลายตามแต่ศักยภาพของตนเองด้วยเช่นกัน
“ตัวหุ่นใช้กระดาษเพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย เด็กจะออกแบบตัวหุ่นตามบุคลิกในเรื่องราวที่เด็กคิดได้ เคล็ดลับที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้สื่อหุ่นเงาก็คือ เด็กต้องมีเวทีแสดงออก และซ้อมบ่อยๆ การแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) เพราะในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้ เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้มด้วยตัวเขาเอง” มาอูจบประโยคพร้อมกับรอยยิ้มผุดพรายเต็มดวงหน้า
หมายเหตุ พื้นที่นี้…ดีจัง เป็นแผนรณรงค์ “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน” ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักในปัญหา ช่วยขจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็ก ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่ดีและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างจริงจัง กว้างขวาง เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ สร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตพัฒนาตามวัย มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก ครอบครัว ชุมชน
ภาพประกอบจาก เฟสบุ๊คLlookkhunnam และ กาหลง นักเดินทางระยะสั้น
“หุ่นเงาทำให้เด็กมีเวทีแสดงออก การได้ออกแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) ในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้ม จึงจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เร็ว”
ภาคีเครือข่ายภาคใต้ ของ สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน ได้ร่วมกันประชุมกลุ่มย่อย โดยมีกลุ่มสงขลาฟอรั่ม กลุ่มศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน จะนะ และกลุ่มยังยิ้ม ณ อำเภอเทพา จ.สงขลา เพื่อวางโมเดลการทำงานและสร้างการสื่อสารในพื้นที่ ในประเด็นการพัฒนาบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน ระหว่างวันที่ 27 และ 28 ก.พ. โดยเน้นกิจกรรมที่ควรจะสามารถ Spark คนในพื้นที่ด้วยโมเดล “การเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง” รวมถึงการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นพลเมืองให้กับเด็ก และเยาวชน รวมทั้งคนในพื้นที่ภาคใต้ โดยวันที่ 28 ก.พ. 60 ภาคีเครือข่ายภาคใต้กลุ่มฐานภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรม ประกอบด้วยกลุ่ม กลุ่มยุวชนสร้างสรรค์ กลุ่มพัทลุงยิ้ม แล กลุ่มละครมาหยา ได้แลกเปลี่ยนและนำเสนอโมเดลกระบวนการเรียนรู้ผ่านภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม และนวัตกรรม ทั้งในส่วนของประวัติศาสตร์ สื่อพื้นบ้าน ประเพณีวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้และSpark แรงบันดาลใจให้กับของเยาวชนในพื้นที่
เยาวชนภาคีเครือข่ายภาคใต้ กว่า 20 เครือข่าย ร่วมกันเปิดพื้นที่ สร้างสรรค์ความงามในท้องถิ่นของตนเพื่อจุดประกายความหวัง ความสุขของคนใต้ โดยเยาวชนคนรุ่นใหม่ แลกเปลี่ยน ค้นหา อะไรคือ “ความเป็นเรา หัวใจภาคใต้” ผ่านการลงพื้นที่จริง ทำจริง …ปฏิบัติการปลุก ใจ เมืองจึงเริ่มขึ้น 23-25 มิ.ย. 60 ค้นหารากเหง้า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณี ผ่านห้องเรียนภูมิปัญญา ที่ อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี 2 ก.ค. 60 ปลุกจิตสำนึกร่วมรักษาทะเลธรรมชาติ ด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ผ่านห้องเรียน แลเล แล หาดสมิลา จ.สงขลา 8 ก.ค. 60 ทะเลคือชีวิตของเรา…สัมผัสวิถีชีวิตความผูกพันของคนใต้กับท้องทะเล ผ่านห้องเรียน อ.จะนะ จ.สงขลา 14-16 ก.ค. 60 เข้าใจอัตลักษณ์และความหลากหลายทางวัฒนธรรม ผ่านห้องเรียนอัตลักษณ์และพหุวัฒนธรรม สามจังหวัดชายแดนใต้ เพราะเราเชื่อว่า “พลังของเยาวชน สามารถจุดประกาย ความสุข […]
กลุ่มเยาวชนอิงะกัมปง หมู่บ้านปาโงปะแต ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส จากเยาวชนไม่ถึง 10 คนกลุ่มสุดท้ายที่เหลืออยู่ที่รอดพ้นจากอิทธิพลของยาเสพติด จากกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ (เรียนโรงเรียนสอนศาสนา และไม่ได้เรียน ) ขี้อาย พูดไม่เก่ง กลัวผู้คน ( มีอาการเป็นไข้ บางคนหายใจ ไม่ออก เมื่อพบเจอผู้คน ) จากเยาวชนที่ถูกสงสัยเรื่องก่อความรุนแรง สู่แกนนำเด็กเยาวชนที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย ปลอดยาเสพติด 100% สร้างกองทุนเพื่อช่วยเด็กเยาวชนในชุมชนที่ยากจนไม่ได้เรียนหนังสือ และผู้สูงอายุ เปลี่ยนแปลงพื้นที่สีแดง ทั้งเรื่องยาเสพติด ความรุนแรง ความหวาดระแวงกันและกัน กลายเป็นพื้นที่ความสัมพันธ์ที่ดี เอื้อเฟื้อแบ่งปันช่วยเหลือทำงานร่วมกันระหว่างราชการกับชุมชน จากกลุ่มเด็กเยาวชนนอกระบบ ไม่รู้จักเทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ กลายเป็นผู้สร้างสื่อสร้างสรรค์หนังสั้นอนา ซีสที่สร้างผลกระทบลดเรื่องยาเสพติดในชุมชนได้อย่างแนบเนียน เป็นกลุ่มเด็กเยาวชนกลุ่มแรกที่ลุกขึ้นมา การทำงานจิตอาสาเพื่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จากผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมปฏิเสธเสื้อกันหนาวไม่กี่ตัวที่ได้รับบริจาค เพื่อการส่งต่อ และเริ่มต้นงานเล็กๆ ด้วยจิตอาสาเกินร้อย แบกไม้กวาดไม้ถูพื้นลงพื้นที่ทำความสะอาดโรงเรียนที่น้ำท่วม( หลังน้ำลด ) กลายเป็นผู้จุดประกายงานจิตอาสาเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ […]
เมื่อนึกถึงคำนี้ “รองเมือง” ใครหลายๆคนนึกถึงสถานีรถไฟหัวลำโพง วันนี้เว็บไซต์สามดีชวนคุณออกมาเดินเล่น ชวนคุณขยับมาอีกนิดไปดูกำแพงสวยๆ ในชุมชนวัดดวงแขกัน ถือเป็นชุมชนสามดีของเราอีกแห่งหนึ่งค่ะ ชุมชนนี้ได้ร่วมมือกันปรับภูมิทัศน์ชุมชนให้น่าอยู่โดยการเชิญศิลปินและ ชวนเด็กๆและคนในชุมชน ทาสีกำแพงและวาดภาพกำแพง สร้างสีสันให้ชุมชนน่าอยู่ คุณครูหรือคุณพ่อ คุณแม่ สามารถพาเด็กๆ ไปเดินชม พร้อมรับฟังหลากเรื่องเล่าโดยคนในชุมชนได้ ชุมชนวัดดวงแขนั้น ได้รับการรองรองเป็นชุมชนจากสำนักงานเขตปทุมวันเมื่อปี 2547 ตั้งอยู่บริเวณถนนรองเมือง แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน มีพื้นที่ 3.5 ไร่ มีจำนวนประชากรตามทะเบียนบ้าน 52หลังคาเรือน 139 ครอบครัว 410 คน และมีประชากรตามบ้านเช่าอีก 500 คน ซึ่งพื้นที่ชุมชนนั้นมี 3 ส่วน คือเช่าอาศัยพื้นที่กรมธนารักษ์ ที่ดินชาวบ้านที่มีโฉนดและพื้นที่จากคลองนางหงส์ที่ตื้นเขิน คลองนางหงส์นั้นที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมเพื่อแบ่งพระราชฐานเป็นชั้นนอกและชั้นใน โดยมีคลองนางหงส์เชื่อมต่อคลองผดุงกรุงเกษมให้น้ำไหลไปลงยังคลองแสนแสบแถบ บริเวณชุมชนกรุงเกษมชุมชนวัดบรมนิวาส และสะพานเจริญผล ต่อมารัชสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงก่อสร้างทางรถไฟสายแรกของประเทศไทยจากหัวลำโพง – ปากน้ำ (สมุทรปราการ) คลองนางหงส์จึงถูกถมเป็นรางรถไฟ และเมื่อคลองนางหงส์ถูกถมแล้วจึงทำให้ส่วนที่ต่อจากรางรถไฟ ตื้นเขินกลายเป็นแผ่นดิน ชาวบ้านจึงมาปลูกบ้านอยู่อาศัยเป็นระยะเวลากว่า 100 ปี สำหรับใครที่สนใจแวะเข้าไปชมติดต่อได้ที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ศูนย์ดวงแข 02 – 215 […]