“หุ่นเงาทำให้เด็กมีเวทีแสดงออก การได้ออกแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) ในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้ม จึงจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เร็ว”
สุภิญญา บุญเฉลย ผู้ประสานงาน กลุ่มลูกขุนน้ำ แห่งหมู่บ้านคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช เอ่ยคำนี้ด้วยรอยยิ้มขณะเล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในกลุ่มลูกขุนน้ำ เธอเรียกแทนตัวเองว่ามาอู
กลุ่มลูกขุนน้ำเข้าร่วมพื้นที่นี้…ดีจังเป็นปีที่ 3 เธอเล่าว่าปีแรกเป็นแขกรับเชิญและเข้าร่วมเต็มตัวใน 2 ปี หลังเธอและเด็กๆ พบความสำเร็จจากการเลือกสื่อที่ดีนั่นก็คือ “หุ่นเงา”
“หุ่นเงาสามารถประสานได้ทุกฝ่าย ทำให้เด็กได้สืบค้นเรื่องราวในชุมชน ผู้ใหญ่ได้ถ่ายทอด เช็คเสียงสะท้อนจากทุกฝ่ายได้ ซึ่งต่างจากการทำเอกสารประเภทงานวิจัย เพราะสื่อหุ่นเงาเวลาเล่นจะมีเสียงตอบรับจากผู้ชมได้ในทันทีขณะเล่น ซึ่งเด็กรู้สึกและรับรู้ได้เช่นกัน ผู้ชมก็เข้าใจสิ่งที่เด็กสื่อได้บางครั้งอาจจะไม่เข้าใจแต่ก็รู้ว่าเด็กตั้งใจจะทำอะไร จากการทำโครงการที่ผ่านมาเห็นพัฒนาการของเด็ก เช่น มีระเบียบวินัย มีการฝึกซ้อม รู้เรื่องราวของชุมชน ภูมิใจที่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตนเอง”
เรียนรู้ต่อเติม
ด้วยความพยายามที่จะหาของดีในชุมชนแรกๆ เธอจึงชวนเด็กๆ ไปใช้ธนูคันกระสุน เป็นธนูแบบดั้งเดิมที่มีก้อนหินเป็นกระสุน ซึ่งมีอยู่เฉพาะในชุมชนนี้ และมีปราชญ์ชาวบ้านรู้เรื่องนี้ที่นี่
“มาอูรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวกลาง(ตัวเชื่อมระหว่างยุค โดยธรรมชาติของชุมชนคีรีวงการถ่ายทอดในทุกๆเรื่องจะส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่น)ได้จึงคิดจะให้ผู้ใหญ่สอนเด็กๆในหมู่บ้านโดยตรง แต่เนื่องจากธนูคันกระสุนเป็นเครื่องมือที่ยากเกินไปเพราะต้องฝึกฝนและต้องใช้ความชำนาญ บางคนหัดยิงพลาดไปโดนนิ้วตัวเองเกิดอันตรายกับเด็กๆ ถึงแม้จะเสียดายเพราะธนูคันกระสุนเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนก็ตามแต่ความปลอดภัยของเด็กก็ต้องมาก่อนสิ่งใด”
ปีที่สองเธอจึงทำซุ้มกิจกรรมและซุ้มศิลปะในโรงเรียนแต่ละแห่งในตำบล รอบๆ หมู่บ้าน แต่ปัญหามีมาทดสอบคนตั้งใจเสมอ พอเข้าไปทำกิจกรรมกับโรงเรียนทำให้เธอรู้ว่าโรงเรียนเองก็มีภาระมาก อีกทั้งกลุ่มลูกขุนน้ำเองก็ไม่ได้มีอำนาจที่จะสั่งการโรงเรียนได้ ทางโรงเรียนจึงจัดสรรค์เวลาให้ตามสมควร อีกทั้งวันที่จะทำกิจกรรมกับเด็กในโรงเรียนได้ก็ต้องเป็นวันธรรมดา ซึ่งทำอะไรไม่ได้มากนัก ที่สำคัญก็คือ การขับเคลื่อนกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์กับทางโรงเรียนขึ้นอยู่กับนโยบายของโรงเรียนว่าส่งเสริมกิจกรรมเด็กมากน้อยแค่ไหน
หลังความพยายามเรามักพบความสำเร็จ ปีที่สามนี่เอง เธอได้ใช้หุ่นเงา เป็นสื่อกลางที่สามารถเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกคนในชุมชนได้ เด็กกับพี่เลี้ยงก็ไม่ลำบากที่จะพบและเรียนรู้ไปด้วยกัน เพราะสามารถใช้วันหยุดไปสืบค้นข้อมูลในชุมชนได้ และได้รับการยอมรับจากชุมชน จึงค่อยๆ จัดอบรม จัดแสดงไปทีละหมู่บ้าน
“เรานำหุ่นเงา จากทุกพื้นที่มาจัดมหกรรมปลายปี รวมหุ่นเงาจากทุกพื้นที่โดยพื้นที่ทำงาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงออกทะเล การจัดงานครั้งนั้นทำให้เราเห็นความหลากหลายของพื้น และหุ่นเงาแต่ละที่ก็อธิบายความเป็นชุมชนและพื้นที่ได้ด้วยตัวหุ่นและเรื่องราว ผ่านเป็นเรื่องเล่าสู่คนชมได้อย่างเข้าใจง่าย
หลังจากครั้งนั้นหุ่นเงาของพวกเราก็เริ่มออกนอกพื้นที่ ได้ไปขอความร่วมมือกับอุทยานการเรียนรู้ จ.นครศรีธรรมราช ขอพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่แสดงหุ่นเงา ซึ่งทางอุทยานฯ มีพื้นที่ว่างอยู่ สำหรับจัดการแสดงอยู่แล้ว จึงตอบโจทย์กันและกันได้ หุ่นเงาจึงทำให้เด็กๆมีพื้นที่””
สื่อดีไม่ได้มีแค่เอกสาร
เดิมทีนั้นมาอูบอกว่า เธอไม่คิดว่าสื่อหุ่นเงานี้จะใช่คำตอบ แต่เกิดจากประสบการณ์ที่เคยผิดพลาดมามาก ทั้งจากงานอื่นๆ ไม่ใช่แค่พื้นที่นี้ดีจัง ทำให้พอนึกออกว่าสื่อแบบไหนที่จะเข้าถึงคนได้ ซึ่งแน่ใจว่าไม่ใช่เอกสารแน่ๆ
“จากที่เคยทำงานวิจัยและเคยผลิตสื่อประเภทการ์ตูนมาก่อน ถึงแม้สื่อที่เราทำออกมันดีแต่ไม่มีคนอ่าน เราก็พยายามหาสื่ออื่นๆ เพื่อจะเข้าถึงและสร้างการมีส่วนร่วม เคยปรึกษากับกลุ่มมานีมานะ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำละครอยู่ที่หาดใหญ่ เลยลองมาให้หุ่นเงาดู ไม่คิดว่าละครที่ใช้หุ่นเงาเป็นสื่อจะมีข้อดีอย่างไม่น่าเชื่อ คือคนเชิดอยู่หลังฉาก เด็กไม่ต้องอายเพราะไม่มีใครมองเห็น ทำให้แก้ปัญหาเรื่องการไม่กล้าแสดงออกของเด็กได้ ต่างจากการแสดงละครเวทีที่ต้องเอาตัวมาเล่นหน้าฉากซะเองซึ่งต้องเผชิญหน้ากับผู้ชมโดยตรง แต่การอยู่หลังฉากก็สร้างความมั่นใจให้เด็กด้วยเช่นกัน หลังจากทำหุ่นเงาไปสักพัก เด็กๆ มีความมั่นใจและเริ่มเรียกร้องที่จะแสดงละครด้วยตัวเองหน้าฉาก ผู้ปกครองก็ให้การสนับสนุน”
หุ่นเงารวมเพื่อนและสร้างทักษะ
มาอูบอกว่าหุ่นเงานั้นทำให้เด็กๆ มีทักษะการทำงานงานฝีมือ นั่นก็คือการตัดตัวหุ่น ซึ่งวิธีการทำหุ่นเงาของกลุ่มลูกขุนน้ำจะทำด้วยวัสดุง่ายๆ วาดโครงร่างหุ่นบนกระดาษแข็ง ตัดกระดาษ ตัดพลาสติก ทำอย่างไรก็ได้ที่ฉายไฟใส่แล้วเกิดเงาได้ จะฉลุปราณีตเหมือนหนังตะลุงก็ได้ หรือจะทำอย่างอื่นๆ ก็ได้ ส่วนเรื่องราวนั้นเป็นเรื่องราวหรือตำนานของชุมชนที่มีอยู่จริง หลังจากเด็กได้เรียนรู้มาเขาจะคิดบทขึ้นมาเองโดยผ่านการเรียบเรียงให้น่าสนใจโดยใช้ทักษะที่ได้รับจากการworkshopหุ่นเงาในช่วงต้นโครงการฯ กระบวนการผลิตหุ่นเงาหนึ่งเรื่องเด็กๆ ได้เรียนรู้การเขียนบท ทำสตอรีบอร์ด วาดหุ่น ตัดหุ่น ทำฉาก การพากย์เสียง การเชิดหุ่น การใช้แสง และอื่นๆ ที่หลากหลายตามแต่ศักยภาพของตนเองด้วยเช่นกัน
“ตัวหุ่นใช้กระดาษเพราะเป็นวัสดุที่หาง่าย เด็กจะออกแบบตัวหุ่นตามบุคลิกในเรื่องราวที่เด็กคิดได้ เคล็ดลับที่สำคัญที่จะทำให้เกิดการใช้สื่อหุ่นเงาก็คือ เด็กต้องมีเวทีแสดงออก และซ้อมบ่อยๆ การแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) เพราะในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้ เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้มด้วยตัวเขาเอง” มาอูจบประโยคพร้อมกับรอยยิ้มผุดพรายเต็มดวงหน้า
หมายเหตุ พื้นที่นี้…ดีจัง เป็นแผนรณรงค์ “พื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน” ของสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนของสังคมตระหนักในปัญหา ช่วยขจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็ก ร่วมมือร่วมใจกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาอย่างรอบด้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่ดีและกิจกรรมสร้างสรรค์ สำหรับเด็กและเยาวชน อย่างจริงจัง กว้างขวาง เป็นพื้นที่สร้างประสบการณ์ สร้างโอกาสให้เด็กได้เติบโตพัฒนาตามวัย มุ่งตอบสนองความต้องการของเด็ก ครอบครัว ชุมชน
ภาพประกอบจาก เฟสบุ๊คLlookkhunnam และ กาหลง นักเดินทางระยะสั้น
“หุ่นเงาทำให้เด็กมีเวทีแสดงออก การได้ออกแสดงเป็นเรื่องสำคัญเพราะเด็กมีของดีต้องได้อวด(ดี) ในเวลาที่แสดงแล้วเด็กจะรู้ว่าเมื่อถูกชมแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร หรือเมื่อผิดพลาดแล้วรู้สึกเป็นอย่างไร เรียนรู้ที่เจ็บ และเรียนรู้ที่ยิ้ม จึงจะทำให้เด็กเติบโตและพัฒนาได้เร็ว”
เพราะเด็กคือ “ความหวัง” ของแผ่นดิน ถ้าหากจะกล่าวว่า อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไรต่อไป ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพชีวิตของเด็กไทยในปัจจุบันก็คงไม่ผิดนัก ด้านการเรียนรู้ของเด็กต้องเริ่มตั้งแต่วัยทารก ซึ่งช่วงเวลาหกปีแรกนี้เองนับเป็นช่วงที่สำคัญยิ่ง เพราะถือเป็นรากฐานของการพัฒนา และนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีตลอดไป สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) ร่วมกับสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ(สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สนับสนุน โครงการสร้างเสริมสุขภาพสำหรับการพัฒนาการเด็กเล็ก โดยร่วมจัดทำชุดโครงการ “มหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั่วประเทศขึ้นในปี 57 จำนวน 138 ปี 58 จำนวน 200 ศูนย์ ซึ่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างเห็นความสำคัญ และยังส่งเสริมให้การเลี้ยงดูเด็กในช่วงปฐมวัยให้มีคุณภาพมากที่สุด เห็นได้จากโครงการต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมให้พ่อแม่ ผู้ปกครองและผู้ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูเด็ก มีความรู้ความสามารถ โดยมีหลักการในการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการดี เจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพเหมาะสมตามช่วงวัย ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา รุจจิราภรณ์ พรมมิ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านทุ่งน้อย องค์การบริหารส่วนตำบลฝายแก้ว อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เล่าว่า ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ภายใต้สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น […]
ปล่อยฝนและน้ำผ่านไป มีเรื่องราวอื่นที่ต้องเดินต่อ ลานข่อยเป็นพื้นที่ตำบลที่อยู่ใน อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ มีเด็กหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งที่เรารู้จักจากค่ายเล็กๆ จากสมาชิกในค่าย เมื่อบ่มเพาะได้ที่ ก็พัฒนามาเป็นผู้จัดค่าย วันหนึ่ง ก็ยกระดับมาเป็นนักจัดการชุมชน พื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับเด็ก เยาวชน พื้นที่นี้ ดีจัง…20 มค.60 นี้ พบกับ เขาและเธอ ใน “ลานข่อยปล่อยยิ้ม” ฟรีทุกกิจกรรม ลานเวที -การแสดงมโนราห์ “ ศาสตร์และศิลป์ถิ่นลานข่อย” -การแสดงโฟร์คซองของเยาวชน วงสภาClassic -การแสดงซายน์โชว์ จากนักเรียนโรงเรียนนิคมควนขนุนวิทยา ลานกิน -ขนมครก -ขนมพิม -ขนมจาก -ขนมโค -น้ำสมุนไพร -ขนมด้วง -ขนมไข่นกกระทา -สมุนไพรทอด -เมี้ยงคำ -น้ำแข็งใส -กล้วยทอด ลานเล่น -มีเกมมากมายให้เล่น -เกมเป่ากบ -แข่งเดินกะลา ลานสร้างสรรค์ -โปสการ์ดเดินทาง -ทำพวงมโหตร -นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง ร่วมสนับสนุนกิจกรรมโดย… ล่องแก่งหนานมดแดง ผู้ใหญ่ฯสมพงษ์ […]
ดร. ครรชิต ไชยโพธิ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านกระเดาอุ่มแสง ได้เริ่มมาทำงานพัฒนาเด็ก เริ่มต้นจากการทำงานกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเห็นความสำคัญที่จะพัฒนาเด็กนักเรียนโดยใช้วิธีการกระบวนการของมูลนิธิฯ เองซึ่งจะแตกต่างจากที่เราจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งแรกเริ่มทำงานเรื่องภูมิปัญญาของผู้เฒ่าผู้แก่ ในเรื่องของเด็กกับผู้เฒ่าชวนกันเล่าเรื่อง โดยมีวิธีการคือให้เด็กเข้าไปสืบค้นภูมิปัญญาแล้วนำมาทำเป็นสื่อ เช่นหนังสือเล่มเล็กแล้วมีการพัฒนามาเรื่อยๆมาจนถึงที่เรากำลังทำคือการเป็นพลเมือง ความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย “ การทำงานตรงนี้เด็กได้มีการทำงานจริงฝึกปฏิบัติจริงเรียนรู้ได้ด้วยตนเองเด็กเกิดทักษะ ในกระบวนการเรียนการสอนเด็กได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง มีการถ่ายทำสารคดี หนังสั้น ละครหุ่นเด็กได้มีการแสดงออก เด็กจะเกิดทักษะทั้งด้านพุทธิพิสัยความรู้จิตตะ คุณธรรมจริยธรรม จากกระบวนการในการจัดกิจกรรมที่ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก” รูปแบบการจัดกระบวนการของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กพอได้เห็นแล้วก็อยากจะร่วมงานด้วย เราไม่ได้มองเรื่องงบประมาณเรามองในเรื่องของรูปแบบการพัฒนาเด็กการเข้าถึงเด็ก เด็กเกิดทักษะการเรียนรู้ต่างๆ กระบวนการเหล่านั้นมาได้เชื่อมโยงระหว่างเด็กโรงเรียนชุมชนภูมิปัญญาท้องถิ่นมีการเชื่อมโยงกันในการจัดกิจกรรม ทำให้เด็กรู้จักรากเหง้าตนเองรู้จักตนเองรู้จักภูมิปัญญาศิลปะวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นของตนเอง เองการจัดการเรียนการสอนโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ทำให้เด็กเกิดสำนึกรักบ้านเกิด ที่สำคัญคือเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมความรับผิดชอบ มันจะได้ทั้งโรงเรียนชุมชนภูมิปัญญา ความเป็นจริงแล้วในการจัดกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนก็เหมือนกับของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กเพียงแต่ว่า ความลึกจะต่างกัน จะได้ความลึกได้ทักษะรู้ในเชิงลึกแต่รูปแบบกระบวนการความชัดเจนต่างกันสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กสิ่งที่เห็นได้ชัด เด็กที่ผ่านกระบวนการนี้เราทำมา 4-5ปี จะเห็นในเรื่องของความรับผิดชอบ การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน จะพวกนี้จะเห็นชัด เด็กจะมีทักษะชีวิตทักษะอาชีพ สามารถที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างดี ชุมชนกับโรงเรียนจะกลมกลืนทำงานไปด้วยกันจะใช้ภูมิปัญญาซึ่งกันและกันระหว่างโรงเรียนกับชุมชนโรงเรียนเรียนรู้จากภูมิปัญญาพื้นบ้าน เด็กเรียนรู้ในโรงเรียนครูเกิดการพัฒนาวิธีการถ่ายทอดความรู้ใหม่ใหม่จากวิทยากร กิจกรรมเด่นๆ เริ่มจากกิจกรรมเด็กกับผู้เฒ่าชวนกันเล่าเรื่อง เราได้ให้เด็กได้เรียนรู้วิธีการสืบค้นภูมิปัญญาในชุมชนมาทำเป็นหนังสือเล่มเล็ก ต่อมาเราทำในเรื่องของสื่อสารสร้างสรรค์เกษตรอินทรีย์วิถีพอเพียงเด็กจะได้ทักษะความรู้ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการถ่ายทำหนังสั้นสารคดีซึ่งเราสามารถเผยแพร่ผลงานของเรา ออกสู่สาธารณะชนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสารคดีที่ได้ออกทางทีวีทำให้หลายหลายที่รู้จักโรงเรียนเราผลงานของนักเรียนเรารู้จักสิ่งดีดีนำงามของโรงเรียน ต่อจากนี้ที่เราจะทำ คือเรื่องของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย เรานำความเป็นพลเมืองนี้มาบูรณาการ จัดการเรียนการสอน ทุกสาระของโรงเรียนเรา […]
วันที่ 16-17 ธันวาคม 59 เชิญชวนเด็กๆ เยาวชนและบุคคลทั่วไป ร่วมกิจกรรม “ตามรอยแว้งในความทรงจำ ครั้งที่ 3 ” ปีนี้เราจะชวนน้องๆทุกคนเดินเยี่ยมชมตลาดอำเภอแว้ง เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ตามติดร่องรอยที่ยังมีให้เห็น เดินชมตึกรามบ้านช่องที่ยังคงสภาพเดิม สนทนาพาเพลินกับคนเฒ่าคนแก่ที่จะส่งกลิ่นไออบอวลแห่งความสุขในวัยเยาว์ ชมนิทรรศการภาพถ่ายของแว้งวันวาน มีหลายภาพที่ยังไม่เคยเปิดเผยที่ใดมาก่อน พร้อมฟังการบรรยายจากเจ้าของภาพที่จะมาบอกเล่าถึงฉากข้างหลังภาพ และพบกับกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กๆ และเยาวชนอีกมากมาย ณ ลานหญ้าศาลามหาราช อ.แว้ง จ.นราธิวาส “พื้นที่นี้ดีจัง แว้ง…ยังยิ้ม อิ่มใจทุกวัยไปอีกนานแสนนาน” ติดตามความเคลื่อนไหวที่ Sum Nara Nara